top of page
ค้นหา
  • Admin

การลดอุบัติเหตุ การหกล้ม ในผู้สูงอายุ

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า สังคมไทยในปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ เมื่อคนมีอายุมากขึ้นย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะชราภาพ (aging) ได้ แม้ว่าเราจะสามารถชะลอด้วยการออกกำลังกาย ควบคุม หรือเลือกอาหาร การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน หรือยาบำรุงบางชนิด ภาวะชราภาพก็ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เมื่อมีอายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของร่างกายภายในอย่างหนึ่ง คือความเปราะบางของกระดูก หรือการมีภาวะกระดูกพรุน ร่างกายที่มีกระดูกบางหรือกระดูกพรุน จะเกิดการแตกหักได้ง่ายกว่าคนในวัยหนุ่มสาว รวมถึงเมื่อหักแล้วก็หายหรือกลับมาเหมือนเดิมได้ยากกว่า


สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดการแตกหัวของกระดูกคือ การหกล้ม หรือการเกิดอุบัติเหตุ


จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การเสียชีวิตที่เกิดจากการบาดเจ็บในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป ร้อยละ 70 มีสาเหตุจากการหกล้ม และพบว่าร้อยละ 90 ของปัญหากระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปี เป็นผลจากการหกล้มเช่นกัน ดังนั้นการหกล้มในผู้สูงอายุจึงเป็นปัญหาทางสุขภาพที่มีความสำคัญที่ต้องมีมาตรการป้องกันอย่างชัดเจน แม้แต่ภายในบ้านที่หลายคนคิดว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้


จากการวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2552 พบว่าผู้สูงอายุชายหกล้มนอกบ้านมากถึงร้อยละ 60 ในขณะที่ผู้สูงอายุหญิงมักหกล้มภายในบ้านร้อยละ 55 สาเหตุของการหกล้มภายในบ้านจากมากไปถึงน้อย คือ พื้นลื่น สะดุดสิ่งกีดขวางเวลาเดิน เดินบนพื้นต่างระดับโดยขาดความระวัง และสุดท้ายคือตกบันได


สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดการหกล้มได้ง่าย เนื่องจาก

- อายุที่มากขึ้น มีผลทำให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงน้อยลง ผู้สูงอายุบางรายอาจควบคุมกล้ามเนื้อได้ไม่ดี ทำให้มีผลต่อการทรงตัว

- เมื่ออายุมากขึ้น ระบบประสาทที่ควบคุมการทรงตัวทำงานได้ช้าลง

- ระบบประสาทอัตโนมัติ หรือ กลไกการป้องกันของร่างกายจะทำงานได้ช้าลง มีผลให้หกล้มได้ง่ายกว่าคนวัยหนุ่มสาว

-โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น พาร์กินสัน อัมพฤกษ์ ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายยากลำบากขึ้น

- ยาประจำตัวบางอย่าง มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ทำให้ง่วง หรือทำให้ร่างกายตอบสนองได้ช้าลง


มีหลายวิธีที่สามารถลดโอกาสหกล้มของผู้สูงอายุ ที่สำคัญและสามารถทำได้ง่ายคือ

  1. จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้สะดวกต่อการเดิน ไม่มีสิ่งกีดขวาง และมีแสงสว่างเพียงพอ

  2. จัดให้มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

  3. ใช้อุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนที่ เช่น ไม้เท้า ที่พยุงเดิน หรือเก้าอี้ล้อเข็น

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุมักปฏิเสธการใช้เครื่องช่วยในการเคลื่อนที่ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

  1. ความรู้สึกหรือทัศนคติที่ไม่ดีต่อเครื่องช่วยในการเคลื่อนที่ เราอาจพบเห็นผู้สูงอายุบางรายใช้ร่มแทนไม้เท้าอันเนื่องมาจากความรู้สึกอายหรือต่อต้าน อย่างไรก็ตามร่มไม่มีความแข็งแรงพอในการพยุงตัว และยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเมื่อต้องรับน้ำหนักของร่างกาย นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยๆ ที่ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการนั่งเก้าอี้ล้อเข็น เพราะความคิดที่มีต่อเก้าอี้ล้อเข็นว่าเป็นอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยเท่านั้น

  2. เครื่องมือบางอย่างใช้งานยาก หรือต้องได้รับการฝึกฝนการใช้งาน เช่น ที่พยุงเดิน (walker) นอกจากจะมีหลากหลายแบบสำหรับการใช้งานที่ต่างกัน ผู้ใช้งานที่พยุงเดินยังควรได้รับคำแนะนำและฝึกฝนการใช้งานให้คล่องก่อนการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ไม่เช่นนั้นผู้ใช้จะรู้สึกว่าอุปกรณ์เป็นภาระและไม่เพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ และจะเลิกใช้อุปกรณ์ไปในที่สุด


เก้าอี้ล้อเข็น เป็นอุปกรณ์ที่ง่ายต่อการใช้งาน และสามารถใช้เพื่อลดการหกล้ม หรืออุบัติเหตุในผู้สูงอายุ เก้าอี้ล้อเข็นนอกจากจะใช้งานได้ง่าย ยังสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเคลื่อนที่ไปได้พร้อมกับผู้ดูแลหรือลูกหลาน ยังลดภาระของผู้ดูแล หรือช่วยให้ผู้ดูแลทำงานได้ง่ายขึ้น


เพื่อที่จะลดการต่อต้านการใช้เก้าอี้ล้อเข็น มีวิธีง่ายๆ ที่ทำได้ดังนี้


  1. อธิบายให้ผู้สูงอายุเข้าใจประโยชน์ของเก้าอี้ล้อเข็นทั้งผู้นั่งและผู้ดูแล ต้องให้ผู้สูงอายุเข้าใจว่า การใช้เก้าอี้ล้อเข็นทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ลดภาระต่อลูกหลานหรือผู้ดูแล รวมถึงช่วยให้ลูกหลานหรือผู้ดูแล สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้น

  2. อธิบายให้ผู้สูงอายุเข้าใจว่า เก้าอี้ล้อเข็นไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้พิการหรือผู้ป่วยเท่านั้น ความจริงแล้วเก้าอี้ล้อเข็นเป็นเครื่องช่วยในการเคลื่อนที่อย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนการใช้จักรยานในคนหนุ่มสาว เก้าอี้ล้อเข็นจะช่วยให้ผู้สูงอายุเคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้นหรือได้ระยะทางมากขึ้น

  3. อธิบายให้ผู้สูงอายุเข้าใจถึงผลเสียหากผู้สูงอายุหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ

  4. ใช้ประโยชน์จากเก้าอี้อี้ล้อเข็นในการช่วยผู้สูงอายุได้ออกนอกบ้าน หรือได้ทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น

  5. เลือกซื้อเก้าอี้ล้อเข็นที่มีคุณภาพ ผู้ใช้สามารถนั่งได้สบายบนเก้าอี้ล้อเข็น และผู้ดูแลสามารถเข็นหรือใช้งานได้ง่าย เก้าอี้ล้อเข็นที่มีคุณภาพต่ำ จะทำให้ผู้นั่งไม่สามารถนั่งได้นาน หรือมีความไม่สบายในการนั่ง

  6. เลือกเก้าอี้ล้อเข็นที่มีความสวยงาม และได้มาตรฐาน ปัจจุบันเก้าอี้ล้อเข็นได้ออกแบบให้มีความสวยงามทั้งโครงสร้างและสีสัน การเลือกเก้าอี้ล้อเข็นที่ถูกใจผู้ใช้จะช่วยลดการต่อต้านหรือการปฏิเสธที่จะใช้เก้าอี้ล้อเข็น

ดู 80 ครั้ง
bottom of page