1. อะไรคือแผลกดทับ (Pressure Ulcers หรือ Pressure Injuries)
แผลกดทับคือแผลที่เกิดจากกด ทับ หรือเสียดสีของผิวหนังและเนื้อเยื่อเป็นเวลานาน จนทำให้การไหลเวียนของเลือดในบริเวณนั้นผิดปกติ แผลกดทับมักเกิดกับผู้ป่วยที่นั่งหรือนอนในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่นั่งหรือนอนบนพื้นผิวที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกระจายแรงกดทับ
แผลกดทับมีความรุนแรงต่างกัน แบ่งได้ 4 ระดับ
ระยะที่ 1. เกิดรอยแดงหรือรอยคล้ำบนผิวหนัง แต่ผิวหนังยังไม่ฉีกขาด
ระยะที่ 2. เกิดแผลตื้นๆ ผิวหนังพอง มีตุ่มน้ำใส
ระยะที่ 3. แผลลึกถึงชั้นไขมัน ผิวหนังบริเวณแผลทั้งหมดถูกทำลาย
ระยะที่ 4. แผลลึกมองเห็นกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ เนื่องจากผิวหนังถูกทำลายอย่างร้ายแรง
นอกจากนั้น หากแผลกดทับเป็นเนื้อสีซีด ดำคล้ำ เรียกว่าไม่สามารถระบุระยะได้ แต่ภายใต้แผล มักเกิดเนื้อตายลึกถึงชั้นไขมันหรือกล้ามเนื้อแล้ว ควรรีบรับการรักษาอย่างรวดเร็ว
แผลกดทับเป็นอาการที่สามารถป้องกันได้อย่างง่ายดาย ผู้มีความเสี่ยงจึงควรใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกัน
2. ผู้ใดมีความเสี่ยงแผลกดทับ
แผลกดทับสามารถเกิดได้กับผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษได้แก่ ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยที่ขยับร่างกายไม่ได้ หรือไม่สะดวก ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคจิตเวช และผู้ขาดสารอาหาร ผู้ดูแลมักคิดว่ามีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เป็นแผลกดทับได้ แต่ความจริงแล้ว เด็กหรือวัยรุ่นก็สามารถเป็นแผลกดทับได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ขาดสารอาหาร หรือกำลังใส่เฝือก
3. การป้องกันแผลกดทับ
ระบบดูแลสุขภาพของสหราชอาณาจักร (NHS) ให้คำแนะนำไว้ว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงแผลกดทับ ควรขยับตัวเพื่อเปลี่ยนท่านั่งหรือนอนทุก 4 ชั่วโมง หากไม่สามารถขยับตัวเองได้ ต้องมีผู้ดูแลช่วยพลิกตัว 90◦ อีกด้วย ห้ามนวดบริเวณที่เสียงเกิดแผลกดทับโดยเด็ดขาด
นอกจากนั้น สามารถใช้ที่นอนที่มีคุณสมบัติกระจายแรงดัน เพื่อป้องกันแผลกดทับอีกด้วย ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ระบบดูแลสุขภาพของสหราชอาณาจักรได้แนะนำให้ใช้เมโมรีโฟม (Memory Foam) ในการป้องกันแผลกดทับ แต่ในปัจจุบัน มีอุปกรณ์อย่างอื่นที่งานวิจัยบ่งชี้ว่าสามารถช่วยป้องกันแผลกดทับได้ดีกว่าวางขายหลายชนิด
4. อุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับ
ปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ลดความเสี่ยงแผลกดทับหลายอย่าง ที่สามารถซื้อหาได้ในประเทศไทยได้แก่
- ที่นอนโฟม หรือเมโมรี่โฟม (Reactive Foam หรือ Viscoelastic Foam) เป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้มานาน บางชุดอาจมีพื้นผิวทำด้วยเจลร่วมด้วย
- ที่นอนเจล (Reactive Gel Surface)
- ที่นอนลม (Air Mattress) แบ่งเป็นสองประเภท คือที่นอนลมแบบแรงดันสม่ำเสมอ (Static Air Mattress) กับที่นอนลมแบบสลับแรงดัน (Alternating-pressure Air Mattress) นอกจากนั้น ที่นอนลมแต่ละรุ่นอาจมีทรงของกระเปาะลมต่างกันไป มีทั้งแบบลูกฟูก และแบบรังผึ้ง ปัจจุบัน งานวิจัยต่างๆ ระบุว่าที่นอนลมแบบแรงดันสม่ำเสมอและแบบสลับแรงดัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันแผลกดทับเท่าๆ กัน ผู้ผลิตแนะนำว่าที่นอนลมแบบรังผึ้งควรใช้สำหรับแผลกดทับระยะที่ 1-2 และผู้ป่วยควรเลือกใช้ที่นอนลมแบบลูกฟูกสำหรับแผลกดทับระยะที่ 3-4
ในปัจจุบัน ที่นอนลมมีราคาถูกกว่าที่นอนป้องกันแผลกดทับประเภทอื่นอย่างเห็นได้ชัด และในระยะหลัง มีงานวิจัยหลายชิ้นยอมรับว่า ที่นอนลมอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันแผลกดทับมากกว่าเมโมรี่โฟมแบบเดิม (Serraes B, van Leen M, Schols J, Van Hecke A, Verhaeghe S, Beeckman D, 2018 และ Shi C, Dumville JC, Cullum N, Rhodes S, McInnes E, 2021)
5. คำแนะนำจากพยาบาลผู้ทำงานวิจัย
ในปัจจุบัน การตัดสินชี้ขาดว่าอุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับชนิดใดดีที่สุดยังไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อคำนึงถึงเหตุผลด้านราคาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นไว้ว่า ที่นอนลมแบบสลับแรงดันน่าจะให้ความคุ้มค่าด้านการป้องกันแผลกดทับแก่ผู้ป่วยที่สุด พยาบาลอาชีพและนักวิจัยซื่อชุนหู (SHI Chunhu) จากศูนย์วิจัยบาดแผลแห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร ได้รวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกันแผลกดทับของที่นอนแบบต่างๆ กว่า 29 ชิ้นมาทำงานวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) ให้ความเห็นไว้ว่า ที่นอนโฟม (Reactive Foam) อาจเพิ่มความเสี่ยงแผลกดทับมากกว่าที่นอนลมแบบสลับแรงดัน
6. ข้อสรุป
การเลือกซื้อที่นอนป้องกันแผลกดทับชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของผู้ป่วยและผู้ดูแล ในระยะหลัง งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ที่นอนลม (Air Mattress) มีความคุ้มค่าที่สุดสำหรับการป้องกันแผลกดทับ ทางองค์กรอาหารและยา (อย.) ยังแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ที่นอนป้องกันแปลกดทับที่ได้รับการรับรองจากอย. ประเทศไทยแล้วเท่านั้น เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ซึ่งต้องได้รับการทดสอบทางวัสดุ อาการแพ้ และคำรับรองด้านประสิทธิภาพก่อนจะได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในประเทศไทย
บรรณานุกรม
National Institute for Health and Care Excellence (NICE). 2014. Pressure ulcers: prevention
and management Rev. 2019 Feb.: https://www.nice.org.uk/guidance/cg179/chapter/Recommendations.
Serraes B, van Leen M, Schols J, Van Hecke A, Verhaeghe S, Beeckman D. Prevention of pressure ulcers with a static air support surface: A systematic review. Int Wound J. 2018 Jun;15(3):333-343. doi: 10.1111/iwj.12870. Epub 2018 Mar 5. PMID: 29504266; PMCID: PMC7949547.
Shi C, Dumville JC, Cullum N, Rhodes S, McInnes E. Foam surfaces for preventing pressure ulcers. Cochrane Database Syst Rev. 2021 May 6;5(5):CD013621. doi: 10.1002/14651858.CD013621.pub2. PMID: 34097765; PMCID: PMC8179968.
Shi C. 2021 Support surfaces for managing pressure ulcers: which to choose? Rev. 2023 July 11.: https://www.evidentlycochrane.net/support-surfaces-pressure-ulcers/
Comments