top of page
ค้นหา
Admin

ออกซิเจนกับคุณภาพชีวิต

อัปเดตเมื่อ 30 มี.ค. 2564

โลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ถูกห่อหุ้มด้วยชั้นบรรยากาศที่ประกอบด้วยก๊าซชนิดต่างๆ ชั้นบรรยากาศหรืออากาศทำหน้าที่ที่สำคัญในการปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลกด้วยการดูดซับ รังสีต่างๆ ความร้อน และลดความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างวัน เรามักเรียกชั้นบรรยากาศว่าอากาศ เมื่อเกี่ยวข้องกับการหายใจ ในอากาศรอบๆตัวเรา จะประกอบด้วยก๊าซต่างๆ คือ ไนโตรเจน ประมาณ 78% ออกซิเจนประมาณ 21% ส่วนที่เหลือคือ อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซน์ และก๊าซอื่นๆ ในอากาศยังมีส่วนประกอบอื่น เช่น ความชื้น ฝุ่น ในกระบวนการหายใจของคน จะเป็นกระบวนการที่ร่างกายนำอากาศเข้าสู่ร่างกาย โดยมีปอดทำหน้าที่หลัก เมื่ออากาศเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ถุงลมเล็กๆของปอด ออกซิเจนจะถูกร่างกายนำไปใช้โดยเข้าสู่เส้นเลือด คาร์บอนไดออกไซน์ในเลือดจะผ่านเข้าสู่ถุงลมปอดและออกมาพร้อมกับลมหายใจออก ในผู้ใหญ่ปกติจะหายใจเข้าออกนาทีละ 4 – 5 ลิตร การดำรงชีวิตจะดำเนินเป็นเช่นนี้ไปตลอดชีวิตของเรา


ออกซิเจนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเรามาก เพราะเซลล์ทุกๆเซลล์ในร่างกายต้องอาศัยออกซิเจนในขบวนการเผาผลาญสารอาหารให้เกิดเป็นพลังงานภายในเซล เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและต่อเนื่องไม่มีหยุด หากขาดออกซิเจนเซลล์จะไม่สามารถสร้างพลังงานและจะตายในที่สุด ร่างกายเราต้องการออกซิเจนตลอดชีวิตตั้งแต่ในครรภ์มารดา


กระบวนการหายใจของคนเรานั้นเริ่มต้นจากการหายใจเอาออกซิเจนที่มีอยู่ในอากาศเข้าสู่ปอด เข้าสู่ถุงลมเล็กๆที่มีอยู่ถึงประมาณ 500 ล้านถุง พื้นที่ถุงลมเล็กๆเหล่านี้ถ้ามาแผ่รวมกันจะมีขนาดถึง 40 เท่าของพื้นที่ผิวกายของเราเลยทีเดียว ที่บริเวณถุงลมเหล่านี้เองจะเป็นที่ที่ออกซิเจนจากอากาศที่เราหายใจเข้าไปถูกส่งผ่านเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตที่หัวใจบีบส่งมาฟอกที่ปอด จากนั้นเลือดที่ผ่านการฟอกแล้วก็จะถูกหัวใจบีบส่งออกไปเลี้ยงทั่วร่างกายอีกต่อหนึ่ง ที่ปลายทางของระบบไหลเวียนนี้เองจะเป็นที่ที่ออกซิเจนถูกส่งไปถึงเซลล์ต่างๆ ทุกๆ ส่วน แล้วเกิดขบวนการหายใจระดับเซลล์ขึ้น ซึ่งก็คือการนำออกซิเจนไปใช้ในการเผาผลาญสารอาหารจำเป็นให้เกิดเป็นพลังงานในเซลล์นั่นเอง


เมื่อขาดอากาศ อวัยวะทุกๆส่วนของร่างกายก็จะขาดออกซิเจนไปด้วย ซึ่งหมายถึงเซลล์ของอวัยวะทุกๆส่วนนั่นเอง เซลล์สมองจะไวต่อการขาดออกซิเจนมาก เมื่อขาดอากาศหายใจ ออกซิเจนในเลือดจะค่อยๆต่ำลงๆจนถึงขั้นต่ำมากๆ ในเวลา 2-3 นาที เราจะหมดสติ หัวใจเต้นช้าลง ความดันตก หัวใจเต้นรวน และเสียชีวิตในที่สุด


ในกรุงเทพหรือในเขตเมืองที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่นหรือการจราจรแออัดหรือมีผู้คนแออัด จัดเป็นสภาพที่มีมลพิษมากๆ เราสามารถรับออกซิเจนเข้าไปเพียงพอแต่อาจด้อยคุณภาพลง เพราะมีโอกาสหายใจเอาสิ่งแปลกปลอมในอากาศเข้าไปด้วย เช่น ฝุ่น ควัน สารตะกั่วหรือสารจากโลหะหนักอื่นๆ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อร่างกายด้วยเช่นกัน


ในคนปกติ การดำเนินไปของชีวิต หรือการคงอยู่ของร่างกาย ออกซิเจนที่มีอยู่ในอากาศ 21% ก็เพียงพอต่อร่างกาย หากร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่ม เช่นในภาวะที่มีการออกกำลังกาย ร่างกายก็เพียงปรับให้หายใจเร็วขึ้นพร้อมกับเพิ่มการทำงานของหัวใจ


หากออกซิเจนในเลือดลดลงต่ำมากๆ เช่นจากภาวะที่เราได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ออกซิเจนจะไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆไม่เพียงพอ ที่สำคัญมากและแสดงอาการได้รวดเร็วเลยคือสมอง จะทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทได้ หรือถ้าต่ำมากกว่านั้นอาจจะชักและหมดสติ และหากปล่อยให้ออกซิเจนต่ำเป็นเวลานาน ก็จะหมดสติไม่ฟื้นขึ้นมาอีก กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราหรือเจ้าชายนิทรา อย่างที่เราเคยได้ยินกัน ผู้ป่วยบางรายต้องกลายสภาพเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา


หากการลดลงของออกซิเจนในเลือดไม่มาก ในระยะสั้นร่างกายจะทำการปรับตัวโดยการเพิ่มจำนวนครั้งของการหายใจ และเพิ่มการทำงานของหัวใจ ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว


ผู้ป่วยที่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำนานๆหรือเรื้อรัง จะส่งผลให้ อวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆจะมีออกซิเจนต่ำ เกิดการเสื่อมหรือตายของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ จะสังเกตเห็นได้ว่าผู้ป่วยมีอาการซึม การทำงานของสมองช้าลง ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำอาจจะเกี่ยวข้องหรือ ไม่เกี่ยวข้องกับ อาการหอบก็ได้ การหอบอาจเป็นผลมาจากการที่มีการหดเกร็งของทางเดินหายใจ


สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วยออกซิเจนในเลือดต่ำ มาจากภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้น หากแพทย์วินิจฉัยว่า คนไข้ต้องได้รับการบำบัดหรือรักษาด้วยออกซิเจน การเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้คนไข้มีอายุยืนยาวขึ้น การเลิก ลด หรือไม่ยอมใช้ออกซิเจนตามคำแนะนำของแพทย์มีผลเสียมากกว่าผลดี


โรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ออาการออกซิเจนไม่เพียงพอ เช่น โรคปอด โรคที่เกี่ยวกับหลอดลม โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไต ภาวะน้ำท่วมปอด เป็นต้น


แพทย์อาจจะวินิจฉัยให้ผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี้ต้องรับการบำบัดด้วยออกซิเจน


  1. ทุกกรณีเมื่อผู้ป่วยได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอโดยวัดได้จาก แรงดันของออกซิเจนในเลือด(PaO2) ต่ำกว่า 60 mmHg หรือวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจน (oxygen saturation) ได้น้อยกว่า 90%

  2. ผู้ป่วยที่หัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น การหายใจล้มเหลว หรือหยุดหายใจ

  3. ผู้ป่วยที่มีอาการหรืออาการแสดงของภาวะขาดออกซิเจน เช่น มีอาการหอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว มีอาการวุ่นวายต่อสู้ สับสน หรือสีผิว สีริมฝีปากดูคล้ำเขียว

  4. ภาวะที่ต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ปอดหายใจรับออกซิเจนได้ดีปกติ แต่ออกซิเจนถูกส่งไปเลี้ยงอวัยวะปลายทางไม่เพียงพอ เช่น ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง มีความดันตก มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดใดๆในร่างกายอุดตัน

การขาดออกซิเจนมีทั้งอาการขาดแบบเฉียบพลันและขาดแบบเรื้อรัง หากการขาดออกซิเจนเป็นในลักษณะที่เรื้อรังค่อยเป็นค่อยไปแต่ไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต เช่นจากโรคปอดเรื้อรังหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดบางประการก็จะส่งผลให้เกิดภาวะอื่นๆที่แตกต่างไปจากที่เกิดในภาวะเฉียบพลันได้แก่ โรคแรงดันเลือดปอดสูง หัวใจซีกขวาล้มเหลว ภาวะเลือดข้นผิดปกติ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ การทำงานของสมองผิดปกติ และความยืนยาวของชีวิตสั้นลง


ฉะนั้นการให้การบำบัดออกซิเจนจึงจำเป็นทั้งสำหรับผู้ป่วยที่ขาดแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ในกรณีหลังผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหอบเหนื่อยหรือรู้สึกขาดอากาศเลยก็ได้แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการบำบัดด้วยออกซิเจนอย่างเหมาะสมก็สามารถทำให้เกิดโรคหรือภาวะต่างๆตามมาได้หลายภาวะดังได้กล่าวข้างต้น


ดู 247 ครั้ง

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page